วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เมื่อ “วัคซีน HPV” เหมาะกับสาวบริสุทธิ์ที่สุด


เมื่อการสำรวจประชากรหญิงทั่วโลก พบว่า กว่า 300,000 ราย ต้องเสียชีวิต เพราะโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ประสบกับโรคร้ายนี้มักอาศัยอยู่ในภูมิภาคแถบเอเชียแปซิฟิก และด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการประชุม The 1st Symposium on HPV Vaccination in the Asia Pacific Region โดยสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute หรือ IVI) ที่จัดขึ้น ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

มะเร็งปากมดลูกอันดับสองรองจากเต้านม ดร. John Clemens ประธานสถาบันวัคซีนนานาชาติและผู้เชี่ยวชาญการประเมินผลของวัคซีนในประเทศที่กำลังพัฒนา ให้ข้อมูลว่า จากการรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบประชากรที่เสียชีวิต เพราะโรคติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมีคนเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้เพียง 10% ขณะที่อีก 90% พบมากในประเทศที่ยังไม่พัฒนาและกำลังพัฒนา ดังนั้นทางสถาบันIVI จึงต้องผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ดร.นพ. Xavier Bosch ผู้บริหาร Cancer Epidemiology and Registration Unit Catalan Institute of Oncology จากบาร์เซโลนา ประเทศสเปนเสริมว่า เชื้อไวรัส HPV (Human Papillomevirus) คือ ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้จะติดต่อทางผิวหนังเท่านั้น ไม่สามารถติดเชื้อผ่านกระแสเลือดได้ “โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มโรคมะเร็งทั้งหมด แต่เป็นอันดับที่ 2 สำหรับโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในผู้หญิง รองจากโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งมีผู้หญิงกว่า 80%เป็นเหยื่อของโรคนี้อันมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมทางเพศ เพราะการร่วมเพศกันในแต่ละครั้ง ผู้หญิงจะได้รับเชื้อเอชพีวีมาอย่างน้อยหนึ่งชนิด ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วในทุกๆ 2 นาทีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกเสียชีวิต 1 คน” อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจพบว่า ช่วงอายุที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี นั่นคือ กลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อแล้ว ประมาณ 9.2 ล้าน หรือ 74% ขณะที่อายุโดยเฉลี่ยของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปาดมดลูกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 57 ปี ส่วนโรคมะเร็งอื่นๆนั้น ผู้ป่วยจะมีอายุโดยเฉลี่ยที่ 72 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ จากประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้บวกกับขั้นตอนการผลิตและต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชีย นั่นคือ ความสามารถทางด้านการงานกับความต้องการวัคซีนที่ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ จากการเปิดตัววัคซีนเอชพีวีในประเทศแทบเอเชียแปซิฟิก พบว่าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือไทย เอง ประสบกับปัญหาราคาแพง ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับวัคซีนตัวนี้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในเรื่องนี้แม้ว่าทางประเทศอินเดียเองจะมีการจัดการลดต้นทุนโดยการผลิตตัวยาบางส่วนในประเทศของเขาเอง แต่วิธีนี้ก็ไม่สามารถครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศ จึงส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกยังเพิ่งสูงขึ้นเป็นระยะๆ

ดร.Linda Eckert นักวิจัยวัคซีน จาก สถาบันวัคซีนนานาชาติของ WHO HQ จากกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยว่า ในเรื่องของราคานั้น ยอมรับว่า เป็นปัญหาสำหรับหลายๆ ประเทศ แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า จุดประสงค์ของนักวิจัยทุกคนและองค์กรทุกองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ต่างมีความเห็นที่ตรงกันคือผลิตวัคซีนขึ้นมาเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก แต่การผลิตย่อมมีต้นทุนเกิดขึ้นซึ่งต้นทุนของวัคซีนค่อนข้างสูงดังนั้นราคาที่ตั้งขึ้นมาจึงเป็นราคาที่สมเหตุสมผล “โดยทั่วไปแล้ว ราคาของวัคซีนนั้นขึ้นอยู่กับบริษัทยาแต่ละประเทศ โดยจะฉีดวัคซีนนี้เพียง 3 ครั้ง ซึ่งบางประเทศตั้งราคาอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์/โดส แต่ราคาของแต่ละประเทศก็จะต่างกันออกไป เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ วิธีหนึ่งที่จะช่วยคนลดค่าใช้จ่ายวิธีหนึ่ง นั่นคือ หากคนไหนไม่สะดวกในการรับวัคซีนเอชพีวี อาจเข้ารับการตรวจภายใน (Pep Smear) เพื่อหาเชื้อก่อนก็ได้ ซึ่งผู้หญิงควรตรวจเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว”

เสียงสะท้อนจากแพทย์ไทย ส่วนทางด้านของประเทศไทยนั้น รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า จากการที่มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดสำหรับผู้หญิงไทย ซึ่งตัวเลขคร่าวๆ ของผู้ป่วยรายใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 6,000 กว่าราย และในแต่ละปีผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสียชีวิตประมาณ 3,000 กว่ารายต่อปี หรือหากเฉลี่ยต่อวัน ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 7 ราย/คน “เมื่อก่อนเรายังไม่ทราบสาเหตุว่าโรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร แต่ปัจจุบันนี้เราทราบแล้วว่า โรคมะเร็งปากมดลูกนั้นเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส Human Papillomevirus (HPV) เลยทำให้เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ แต่แม้จะรู้สาเหตุของการเกิดโรค แต่ที่เป็นอันดับ1อยู่เพราะโรคมะเร็งนั้น ในช่วงเริ่มแรกจะยังไม่มีอาการนานกว่า 10-15 ปี ซึ่งกว่าเชื้อไวรัสจะกลายเป็นมะเร็งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอายุประมาณ 30-40 ปี ทำให้กลุ่มเสี่ยงสูงที่สุดคือกลุ่มอายุอายุ 35-45 ปี โดยกลุ่มเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการรับเชื้อตั้งแต่วัยรุ่นคือการมีเพศสัมพันธ์เร็ว”


อย่างไรก็ดี เมื่อเชื้อเอชพีวีสามารถติดต่อกันส่วนใหญ่ทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงจึงเป็นแรงเสริมหรือกลายเป็นอัตราเร่งให้วัยรุ่นมีโอกาสรับเชื้อสูงมากขึ้นไปด้วย ซึ่งอาการก่อนจะเข้าสู่โรคมะเร็งปากมดลูกนั้น จะเรียก ภาวะก่อนเป็นมะเร็ง โดยจะทราบจากการตรวจภายในที่ปากมดลูกที่ควรตรวจปีละครั้ง เพื่อดูเซลล์ของปากมดลูก “นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยเป็นโรคนี้กันเยอะเพราะหากเทียบกับผู้หญิงอเมริกันแล้ว พวกเขาตรวจภายในกันประมาณ 80% แต่ไทยเรา 10-15% เท่านั้น ซึ่งการที่ผู้หญิงอาย เขิน หรือกลัวเจ็บนี่เอง จึงทำให้ไม่ทราบว่าเป็น พอรู้อีกทีก็สายไปแล้ว ดังนั้น หากกล้าที่จะตรวจในระยะแรกเขาก็สามารถหายได้”

ส่วนอาการของโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น รศ.นพ.วิชัย อธิบายว่า ในระยะลุกลามจะมีตกขาวมาก มีกลิ่น และมีเลือดออก อีกทั้งยังมีอาการผิดปกติในระบบอื่นๆ ได้ เนื่องจากมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ขับถ่ายผิดปกติ หรือ ปวดตามตัว “เมื่อทราบสาเหตุของการเกิดโรค และมีวัคซีนป้องกันโรคโดยเฉพาะแล้ว เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส มี2ชนิด แบ่งออกเป็นวัคซีนที่ฉีดป้องกันโรค 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 16 และ 18) ซึ่งเป็นเชื้อเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูงที่เป็นสาเหตุหลักก่อให้เกิดโรคมะเร็งถึง 70% ขณะที่วัคซีนที่ฉีดป้องกันโรค 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18) จะครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงต่ำที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ด้วย”

วัคซีนนี้เพื่อผู้หญิงวัยไหน จากการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่า แท้ที่จริงแล้ววัคซีนนี้เหมาะกับวัยใดกันแน่ ซึ่ง รศ.นพ.วิชัยแนะว่า สำหรับคนไทยแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองไว้กลุ่มที่น่าฉีดวัคซีนเอชพีวีมากที่สุดคือกลุ่มในช่วงอายุ 9-26 ปี ซึ่งวัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดต่อเมื่อผู้หญิงคนนั้นยังไม่เคยรับเชื้อมาก่อน หมายถึงยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แม้แต่ครั้งเดียว ส่วนคนที่แต่งงานแล้วก็สามารถฉีดได้ แต่หากมีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไปโอกาส อาจไม่ต้องฉีด เพราะโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นจะน้อยลง เนื่องจากการรับเชื้อเอชพีวีนั้น เป็นเชื้อที่มีการติดต่อล่วงหน้าหลายปี”

“ผลวิจัยล่าสุดจากทั่วโลกรวมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย พบว่า วัคซีนชนิดป้องกัน 4 สายพันธุ์นั้น ผู้หญิงที่มีอายุ 45 ปี ก็ยังได้ประโยชน์จากวัคซีนนี้เช่นกัน ซึ่ง ณ ตอนนี้ทางประเทศออสเตรเลีย ได้ขยายช่วงอายุไปถึง 45 ปีแล้ว โดยวัคซีนประเภท 2 สายพันธุ์นั้นหลังจากฉีดครั้งแรกแล้ว จากนั้น 1 เดือนจะฉีดเข็มที่ 2 และเดือนที่ 6 ฉีดเข็มที่ 3 ขณะที่วัคซีนประเภทสี่สายพันธุ์นั้นหลังจากฉีดครั้งแรกแล้ว จะฉีดเข็มที่ 2และ3ในอีก 2 เดือนและ 6 เดือนตามลำดับ” ส่วนเรื่องราคาวัคซีนในเมืองไทยนั้น แม้จะยังไม่มีนโยบายหางบประมาณ ฉีดฟรีสำหรับเด็กในช่วงอายุ 11-12 เฉกเช่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียแต่ไทยเองก็ไม่ใช่ประเทศที่ยากจน จึงยังพอมีกลุ่มคนที่สามารถฉีดวัคซีนตัวนี้ได้ ซึ่งกลุ่มคนที่มีอายุ 26ปีขึ้นไปจะฉีดกันเยอะเพราะอาจมีคนใกล้ตัวเป็น เกิดความกลัวและมีความรู้มากขึ้น

อีกทั้งกลุ่มนี้ คือ กลุ่มคนทำงานจึงมีเงินพอที่จะตอบสนองความต้องการได้ โดยราคาวัคซีนนั้นอยู่ประมาณเข็มละ 4,000 บาท แต่ตอนนี้อาจลดเหลือ 3 เข็ม ประมาณ 6,000-7,000 บาท ซึ่งหากเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนไทยก็ยังถือว่าราคาสูงอยู่ตามเคย

“แม้ว่าเชื้อเอชพีวีจะติดต่อได้จากทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะขณะร่วมเพศและมีหลายคู่นอนซึ่งเสี่ยงถึง 80% ในการติดเชื้อในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่คนที่ไม่สำส่อนก็สามารถติดเชื้อนี้ได้ถึง 47% เช่นกัน เมื่อไวรัสนั้นอยู่ตามผิวหนังที่เปียกชื้น ดังนั้นการทำออรัลเซ็กซ์ หรือการร่วมเพศวิธีต่างๆ ก็จะได้รับเชื้อนี้ แต่การทำออรัลเซ็กซ์นั้นจะได้มีเชื้อเอชพีวีในร่างกายน้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบปกติ”

รศ.นพ.วิชัย กล่าว อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.วิชัย เผยว่า เชื้อเอชพีวีไม่ได้ส่งผลร้ายแค่เพียงผู้หญิงเท่านั้น เพราะผู้ชายกลุ่มพิเศษ ที่ได้รับเชื้อเอชพีวีก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเช่นกัน ซึ่งเชื้อนี้จะทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทวารหนัก อันเกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธ์ 16-18 มากถึง 70-80% ทีเดียว “ผู้ป่วยมะเร็งที่ทวารหนักมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ซึ่งก้นนั้นไม่ต่างจากปากมดลูกเลย เพราะจากการวิจัยเรื่องวัคซีนเอชพีวีกับผู้ชาย ได้มีการสำรวจผู้ชาย 4,000 คน แบ่งเป็นเกย์ 800 กว่าคน ผู้ชายแท้อีก 3,200 กว่าคน พบว่า วัคซีน 4 สายพันธ์สามารถป้องกันการติดเชื้อเชื้อเอชพีวีได้”

“ในอเมริกาเอง แม้ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะลดลงไปมาก โดยอยู่ที่ประมาณ 5:100,000 คน ขณะที่ไทยอยู่ในอัตรา 24:100,000 คน แต่ตอนนี้ในอเมริกามีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งก้น โดยที่ยังไมติดเชื้อเอชไอวี อยู่ที่ประมาณ 35:100,000 คน แต่หากติดเชื้อเอชไอวีด้วยจะเป็นมะเร็งก้นสูงถึง75:100,000 คน”

อย่างไรก็ดี รศ.นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หากใครประสบปัญหาทางด้านการเงิน และไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ก็มีทางเลือกอื่นๆ อีก เช่น การลดพฤติกรรมเสี่ยง อย่ามีเพศสัมพันธ์เร็วจนเกินไป หรือมีคู่นอนหลายคน และการตรวจคัดกรองมะเร็ง หาเซลล์ระยะเริ่มต้น โดยการตรวจภายในเป็นประจำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ลดอัตราเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
30 กรกฎาคม 2552 07:28 น.

0 ความคิดเห็น on "เมื่อ “วัคซีน HPV” เหมาะกับสาวบริสุทธิ์ที่สุด"

แสดงความคิดเห็น

 

Followers

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
กรุงเทพฯ, Thailand
ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ KU58, ปริญญาโท บริหารธุรกิจ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2548

เคล็ดลับสาวพันปีกับอาหารเพื่อสุขภาพ Copyright 2009 Shoppaholic Designed by Ipietoon Image by Tadpole's Notez