
เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอายและกลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง ทำให้กว่าจะรู้ว่าป่วยด้วยโรคร้ายนี้ ความรุนแรงของโรคก็อยู่ในระยะลุกลามแล้ว..ดังนั้น วันนี้เราจึงนำข้อมูลมาให้คุณรู้เท่าทันมะเร็งปากมดลูกกันค่ะ
มะเร็งปากมดลูก (Cancer of Cervix) เกิดจากเชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่ชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus) ภาษาไทยเรียกกันว่า ไวรัสหูด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อจากการสัมผัส ส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ และเชื้อไวรัสจะเข้าไปที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ จากปากมดลูกปกติกลายเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก ไวรัสเอชพีวี มีทั้งหมดกว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำให้ติดเชื้ออวัยวะสืบพันธุ์มีประมาณ 30-40 ชนิด แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงต่ำไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ หรือหูดที่กล่องเสียง ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงก่อมะเร็งต่างๆ ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอด
สำหรับความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวีดำเนินได้โดยง่าย เชื้อชนิดนี้เป็นเชื้อที่ทนทานต่อความร้อน และความแห้งได้ดี สามารถเกาะติดตามผิวหนัง อวัยวะเพศ เสื้อผ้า หรือแม้แต่กระจายอยู่รอบตัวในรูปของละอองฝุ่น ซึ่งผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อมักหายได้เอง ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย มีเพียง 10% เท่านั้น ที่การติดเชื้อยังดำเนินต่อไป สร้างความผิดปกติให้กับเยื่อบุปากมดลูก และทำให้กลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งก่อให้เกิดมะเร็งได้นั้น ใช้เวลานานประมาณ 10-15 ปี
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- การมีคู่นอนหลายคน หรือฝ่ายชายที่เราร่วมหลับนอนมีคู่นอนหลายคน
- การคลอดบุตรจำนวนหลายคน
- การสูบบุหรี่
- การมีภาวะคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเป็นโรคเอดส์
- การสูบบุหรี่
- พันธุกรรม
- การขาดสารอาหารบางชนิด ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย
- ผู้ชายที่มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
- ผู้หญิงที่มีสามีเป็นมะเร็งองคชาติ
- ผู้หญิงที่มีสามีเคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
- ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน
อาการและการรักษา
มะเร็งปากมดลูก มักพบในผู้หญิงอายุ 35 - 60 ปี แต่ก็อาจพบมะเร็งปากมดลูกก่อนวัยอันควรได้ ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมากหรือน้อยขึ้นกับระยะของมะเร็ง ซึ่งอาการที่พบในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ อาการตกเลือดทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วย ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์
ถ้าเป็นมากและมะเร็งลุกลามออกไปด้านข้าง หรือลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรานก็จะมีอาการปวดหลังได้ เพราะไปกดทับเส้นประสาท อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามหรือไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ขาบวม ปวดหลัง ปวดก้นกบ ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น
มะเร็งปากมดลูก แบ่งเป็น 0-4 ระยะ ดังนี้
ระยะ 0 คือ เซลล์มะเร็งยังไม่กระจาย วิธีรักษาคือ ผ่าตัดเล็ก ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 นาที และตรวจติดตามอาการ การรักษาระยะนี้ได้ผลเกือบ 100%
ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูก การรักษาคือผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดมดลูก เลาะต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน ซึ่งได้ผลดีถึง 80%
ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูก โดยยังไม่ไปไกลมาก แต่ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องรักษาด้วยการฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด (คีโม) ได้ผลราว 60%
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายชิดเชิงกราน การรักษาคือใช้รังสีรักษา และการให้เคมีบำบัด การรักษาระยะนี้ได้ผลประมาณ 20-30%
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายทั่วร่างกาย การรักษาคือการให้คีโม และรักษาตามอาการ โดยหวังผลได้เพียง 5-10% และโอกาสรอดน้อยมาก แต่ก็ไม่แน่ โดยมีผู้ป่วยบางรายสามารถอยู่ต่อได้นานถึง 1-2 ปี จึงเสียชีวิตผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งปากมดลูก การผ่าตัด ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดที่อาจเกิดได้ ได้แก่ การตกเลือด การติดเชื้อ อันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง การฉายแสง (ระยะเวลา 1-2 เดือน) ผลข้างเคียง คือ ผิวแห้ง ปัสสาวะมีเลือดปน อ่อนเพลีย ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงคือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มือเท้าชา ซึ่งขึ้นกับยาแต่ละชนิดที่เลือกใช้
ผู้หญิงควรจะเริ่มตรวจหามะเร็งปากมดลูกเมื่อใด
ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกช่วงอายุ ควรมาตรวจคัดกรองเชื้อมะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่า แพปสเมียร์ (Pap Smear) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มเมื่อ อายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีที่เริ่มพบความผิดปกติแพทย์อาจนัดให้ไปตรวจถี่ขึ้น
ทั้งนี้ แพปสเมียร์ คือ วิธีการตรวจหาความผิดปกติหรือมะเร็งปากมดลูกที่ค่อนข้างง่าย ใช้เวลาเพียง 2–3 นาทีเท่านั้น เป็นการตรวจที่ทำควบคู่ไปกับการตรวจภายในของผู้หญิง แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด โดยใช้ไม้ขนาดเล็กขูดเบาๆ เพื่อเก็บเซลล์มาป้ายบนแผ่นกระจก และนำไปตรวจหาความผิดปกติ
โดยก่อนที่จะตรวจ ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม ไม่ควรตรวจในช่วงระหว่างมีประจำเดือน งดการมีเพศสัมพันธ์ และงดการสวนล้างช่องคลอด หรือสอดยาใดๆ ก่อนเข้าทำการตรวจ
ข้อดีคือ วิธีการตรวจแบบแพปสเมียร์นี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องการรณรงค์ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ความจริงแล้ว
ระดับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีหลายระดับ
โดยระดับแรกของการป้องกันคือ การฉีดวัคซีน ที่เชื่อว่าลดความเสี่ยงได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ การป้องกันขั้นพื้นฐานด้วยการตรวจแพปสเมียร์เป็นประจำก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกา เด็กและหญิงสาวที่อายุต่ำกว่า 26 ปี ซึ่งไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน สามารถรับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวี
ส่วนหญิงสาวที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ควรตรวจคัดกรองมะเร็งหรือแพปสเมียร์เสียก่อน เพราะเป็นไปได้ว่าอาจพบการติดเชื้อ หรือมีความผิดปกติ ซึ่งจะต้องทำการรักษาให้หายเสียก่อน จึงจะรับการฉีดวัคซีนได้ในเวลาต่อมา
ส่วนวัยที่ควรเริ่มฉีดวัคซีนชนิดนี้คือ 9 ปีขึ้นไป และการใช้วัคซีนในผู้หญิงวัย 9 – 26 ปี จะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อย่าลืมหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ และความผิดปกติของร่างกาย ที่สำคัญอย่ากลัวหรืออายที่จะไปตรวจหาเชื้อมะเร็งปากมดลูก เพราะหากช้าไป โรคร้ายอาจทำลายคุณ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก - สถาบันมะเร็งแห่งชาติ- ladpraohospital.com- ศูนย์มะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์