วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

มะเร็งปากมดลูก

0 ความคิดเห็น
แม้จะเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาให้หายได้ แต่ "มะเร็งปากมดลูก" ยังคงครองแชมป์อันดับหนึ่งของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิง โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 7 คนต่อวัน และพบผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 6,000 คนต่อปี โดยในจำนวนของผู้มีเชื้อนี้กว่าครึ่งต้องเสียชีวิต


เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอายและกลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง ทำให้กว่าจะรู้ว่าป่วยด้วยโรคร้ายนี้ ความรุนแรงของโรคก็อยู่ในระยะลุกลามแล้ว..ดังนั้น วันนี้เราจึงนำข้อมูลมาให้คุณรู้เท่าทันมะเร็งปากมดลูกกันค่ะ



มะเร็งปากมดลูก (Cancer of Cervix) เกิดจากเชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่ชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus) ภาษาไทยเรียกกันว่า ไวรัสหูด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อจากการสัมผัส ส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ และเชื้อไวรัสจะเข้าไปที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ จากปากมดลูกปกติกลายเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก ไวรัสเอชพีวี มีทั้งหมดกว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำให้ติดเชื้ออวัยวะสืบพันธุ์มีประมาณ 30-40 ชนิด แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงต่ำไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ หรือหูดที่กล่องเสียง ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงก่อมะเร็งต่างๆ ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอด


สำหรับความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวีดำเนินได้โดยง่าย เชื้อชนิดนี้เป็นเชื้อที่ทนทานต่อความร้อน และความแห้งได้ดี สามารถเกาะติดตามผิวหนัง อวัยวะเพศ เสื้อผ้า หรือแม้แต่กระจายอยู่รอบตัวในรูปของละอองฝุ่น ซึ่งผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี


อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อมักหายได้เอง ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย มีเพียง 10% เท่านั้น ที่การติดเชื้อยังดำเนินต่อไป สร้างความผิดปกติให้กับเยื่อบุปากมดลูก และทำให้กลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งก่อให้เกิดมะเร็งได้นั้น ใช้เวลานานประมาณ 10-15 ปี


ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย

- การมีคู่นอนหลายคน หรือฝ่ายชายที่เราร่วมหลับนอนมีคู่นอนหลายคน

- การคลอดบุตรจำนวนหลายคน

- การสูบบุหรี่

- การมีภาวะคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเป็นโรคเอดส์

- การสูบบุหรี่

- พันธุกรรม

- การขาดสารอาหารบางชนิด ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย

- ผู้ชายที่มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

- ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย

- ผู้หญิงที่มีสามีเป็นมะเร็งองคชาติ

- ผู้หญิงที่มีสามีเคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก

- ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน


อาการและการรักษา

มะเร็งปากมดลูก มักพบในผู้หญิงอายุ 35 - 60 ปี แต่ก็อาจพบมะเร็งปากมดลูกก่อนวัยอันควรได้ ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมากหรือน้อยขึ้นกับระยะของมะเร็ง ซึ่งอาการที่พบในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ อาการตกเลือดทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วย ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์

ถ้าเป็นมากและมะเร็งลุกลามออกไปด้านข้าง หรือลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรานก็จะมีอาการปวดหลังได้ เพราะไปกดทับเส้นประสาท อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามหรือไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ขาบวม ปวดหลัง ปวดก้นกบ ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น

มะเร็งปากมดลูก แบ่งเป็น 0-4 ระยะ ดังนี้

ระยะ 0 คือ เซลล์มะเร็งยังไม่กระจาย วิธีรักษาคือ ผ่าตัดเล็ก ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 นาที และตรวจติดตามอาการ การรักษาระยะนี้ได้ผลเกือบ 100%

ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูก การรักษาคือผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดมดลูก เลาะต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน ซึ่งได้ผลดีถึง 80%

ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูก โดยยังไม่ไปไกลมาก แต่ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องรักษาด้วยการฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด (คีโม) ได้ผลราว 60%

ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายชิดเชิงกราน การรักษาคือใช้รังสีรักษา และการให้เคมีบำบัด การรักษาระยะนี้ได้ผลประมาณ 20-30%

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายทั่วร่างกาย การรักษาคือการให้คีโม และรักษาตามอาการ โดยหวังผลได้เพียง 5-10% และโอกาสรอดน้อยมาก แต่ก็ไม่แน่ โดยมีผู้ป่วยบางรายสามารถอยู่ต่อได้นานถึง 1-2 ปี จึงเสียชีวิตผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งปากมดลูก การผ่าตัด ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดที่อาจเกิดได้ ได้แก่ การตกเลือด การติดเชื้อ อันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง การฉายแสง (ระยะเวลา 1-2 เดือน) ผลข้างเคียง คือ ผิวแห้ง ปัสสาวะมีเลือดปน อ่อนเพลีย ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงคือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มือเท้าชา ซึ่งขึ้นกับยาแต่ละชนิดที่เลือกใช้

ผู้หญิงควรจะเริ่มตรวจหามะเร็งปากมดลูกเมื่อใด
ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกช่วงอายุ ควรมาตรวจคัดกรองเชื้อมะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่า แพปสเมียร์ (Pap Smear) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มเมื่อ อายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีที่เริ่มพบความผิดปกติแพทย์อาจนัดให้ไปตรวจถี่ขึ้น

ทั้งนี้ แพปสเมียร์ คือ วิธีการตรวจหาความผิดปกติหรือมะเร็งปากมดลูกที่ค่อนข้างง่าย ใช้เวลาเพียง 2–3 นาทีเท่านั้น เป็นการตรวจที่ทำควบคู่ไปกับการตรวจภายในของผู้หญิง แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด โดยใช้ไม้ขนาดเล็กขูดเบาๆ เพื่อเก็บเซลล์มาป้ายบนแผ่นกระจก และนำไปตรวจหาความผิดปกติ

โดยก่อนที่จะตรวจ ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม ไม่ควรตรวจในช่วงระหว่างมีประจำเดือน งดการมีเพศสัมพันธ์ และงดการสวนล้างช่องคลอด หรือสอดยาใดๆ ก่อนเข้าทำการตรวจ

ข้อดีคือ วิธีการตรวจแบบแพปสเมียร์นี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องการรณรงค์ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ความจริงแล้ว

ระดับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีหลายระดับ
โดยระดับแรกของการป้องกันคือ การฉีดวัคซีน ที่เชื่อว่าลดความเสี่ยงได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ การป้องกันขั้นพื้นฐานด้วยการตรวจแพปสเมียร์เป็นประจำก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกา เด็กและหญิงสาวที่อายุต่ำกว่า 26 ปี ซึ่งไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน สามารถรับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวี

ส่วนหญิงสาวที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ควรตรวจคัดกรองมะเร็งหรือแพปสเมียร์เสียก่อน เพราะเป็นไปได้ว่าอาจพบการติดเชื้อ หรือมีความผิดปกติ ซึ่งจะต้องทำการรักษาให้หายเสียก่อน จึงจะรับการฉีดวัคซีนได้ในเวลาต่อมา

ส่วนวัยที่ควรเริ่มฉีดวัคซีนชนิดนี้คือ 9 ปีขึ้นไป และการใช้วัคซีนในผู้หญิงวัย 9 – 26 ปี จะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อย่าลืมหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ และความผิดปกติของร่างกาย ที่สำคัญอย่ากลัวหรืออายที่จะไปตรวจหาเชื้อมะเร็งปากมดลูก เพราะหากช้าไป โรคร้ายอาจทำลายคุณ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก - สถาบันมะเร็งแห่งชาติ- ladpraohospital.com- ศูนย์มะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

read more “มะเร็งปากมดลูก”

มะเร็งตับ..ภัยเงียบที่อาจคุมคาม

0 ความคิดเห็น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข่าวการจากไปของศิลปินชื่อดังหลายท่านจากโรคมะเร็งตับ ทำให้ใครหลายคนเริ่มวิตกกังวล และหันมาสนใจโรคดังกล่าวนี้กันมากขึ้น ด้วยความจริงที่ชวนให้พองขนว่า หากประสบกับโรคนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่หายขาด ซ้ำร้ายจะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ไม่เกิน 6 เดือน!!!

ปี 2549 ดีเจ.โจ้ - อัครพล ธนะวิทวิลาศ ดีเจชื่อดังจากค่ายเอไทม์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ หลังต่อสู้กับโรคร้ายนี้ มานานกว่า 3 เดือน ด้วยวัย 35 ปี

ปีนี้ 2551 ยอดรัก สลักใจ ขุนพลเพลงลูกทุ่งไทย ลาโลกไปด้วยโรคมะเร็งตับอีกเช่นกัน หลังพบเป็นมะเร็งที่ขั้วตับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา....

สอดคล้องกับความจริงที่ว่า มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง และผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับนี้ถ้ารู้ตัวก็มักจะเสียชีวิตใน 3 -6 เดือน

มะเร็งตับมีสาเหตุมาจากอะไร ?

1. ส่วนใหญ่ของการเกิดมะเร็งตับมีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบีและซี จากข้อมูลสถิติของหลายสถาบันได้ผลใกล้เคียงกันว่า 80% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นมะเร็งตับ โดยมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติถึง 223 เท่า (ข้อมูลจากหนังสือความรู้เรื่องโรคตับสำหรับประชาชน)

2. มีข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า ประมาณ 90% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจะมีตับแข็งร่วมด้วย นั่นก็หมายความว่า ถ้าท่านป่วยเป็นพาหะตับอักเสบบี และมีตับแข็งแล้ว ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับจะสูงมากๆ ทีเดียว
3. มะเร็งตับยังมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีข้อมูลทางวิชาการที่ยืนยันได้ว่า ผู้ที่ดื่มสุราแอลกอฮอล์เป็นประจำมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์


4. สารอะฟลาท๊อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ก็เป็นสารก่อมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ จากการศึกษาพบว่า อะฟลาท๊อกซิน มีความสัมพันธ์กับไวรัสตับอักเสบบี โดยเชื่อว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นตัวทำให้เกิดมะเร็งตับ และอะฟลาท๊อกซินเป็นตัวเสริม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี จึงควรที่จะหลีกเลี่ยง ถั่วลิสง โดยเฉพาะถั่วลิสงป่นที่ค้างนานๆ ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว และเต้าหู้ยี้

จะทราบได้อย่างไรว่ากำลังเป็นมะเร็งตับ ?

สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับ มีอัตราการอยู่รอดต่ำก็คือ มะเร็งตับในระยะแรกซึ่งจะสามารถรักษาให้หายขาดได้นั้น มักไม่แสดงอาการที่ชัดเจนออกมา โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลุมเคลือ เช่น เสียดท้องด้านขวา มีอาการจุกแน่นในบางครั้ง แต่โดยส่วนใหญ่แทบไม่มีอาการอะไรเลย ทั้งนี้ ก็เพราะตับเป็นอวัยวะที่มีกำลังสำรองมาก คนเราสามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานของตับประมาณ 30% ดังนั้น เมื่อมีอาการที่ชัดเจนมะเร็งก็อยู่ในระยะลุกลาม หรือ มีขนาดใหญ่และไม่สามารถจะรักษาได้แล้ว

อาการของผู้ป่วยมะเร็งตับ

ที่ชัดเจนก็คือ รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกเสียด แน่นท้อง น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว และอาการที่เด่นชัดก็คือ ปวดชายโครงด้านขวา โดยอาจร้าวไปที่ไหล่ด้านขวาหรือลำตัวซีกขวา และอาจคลำพบก้อนที่ชายโครง
การตรวจหามะเร็งตับทำได้อย่างไร ?

เนื่องจากมะเร็งตับเปรียบเหมือนมฤตยูเงียบ การเฝ้าระวังจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเป็นมะเร็งตับ คือ ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปและมีอาการตับแข็งร่วมด้วยควรจะต้องตรวจร่างกายอย่างน้อยทุก 6 เดือน

การตรวจหามะเร็งตับในปัจจุบัน จะมีการตรวจหาระดับของสารอัลฟาฟิโตโปรตีน (Alfafeto-protein) ซึ่งเป็นสารที่มักพบในผู้ป่วยมะเร็งตับ แต่การตรวจหาค่าอัลฟาฟิโตโปรตีนอย่างเดียวไม่เพียงพอ เนื่องจากมีโอกาสผิดพลาดได้ถึง 30% การตรวจจึงควรจะร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจหาก้อนมะเร็งที่มีขนาดเล็ก ๆ ได้ ถ้าจะให้ละเอียดมากกว่านี้ก็คือ การตรวจโดยใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า C T Scan ซึ่งจะสามารถเห็นมะเร็งที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้

มีวิธีรักษามะเร็งตับอย่างไรบ้าง ?

มะเร็งตับดูเป็นโรคที่มีความน่ากลัว เพราะผู้ป่วยมักเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ส่วนใหญ่ก็เพราะเมื่อตรวจพบมะเร็งก็มีขนาดใหญ่มากแล้ว อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบในระยะแรกๆ ก็มีวิธีที่จะรักษาให้หายขาดได้ เช่น

1. การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก โดยมีเงื่อนไขว่าก้อนมะเร็งนั้นมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร เป็นมะเร็งก้อนเดียว มีเปลือกห่อหุ้ม และอยู่ภายในตับกลีบเดียว วิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน

2. Transcatheter Oily Chemo-embolization หรือ TOCE ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้ เนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินไป วิธีรักษาแบบ TOCE นี้มักจะกระทำโดยรังสีแพทย์ โดยการสอดสายขนาดเล็กเข้าไปทางเส้นเลือดแดงตับ เพื่อเข้าไปถึงก้อนมะเร็งโดยตรงเพื่อใส่ยาเคมีเข้าไปที่ก้อนมะเร็ง พร้อมทั้งอุดเส้นเลือดหลักที่เข้าไปเลี้ยงก้อนมะเร็งด้วยในเวลาเดียวกัน วิธีการรักษาแบบนี้ก็ได้ผลอยู่บ้างแต่ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ โดยส่วนใหญ่มะเร็งจะกลับโตขึ้นมาได้อีก หรืออาจแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นได้ เช่น ปอดหรือกระดูก ในทางการแพทย์การรักษาโดยวิธีนี้จึงเป็นการรักษาเพื่อยืดเวลา ในบางกรณีเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงและไม่กระจายไปที่อื่นอาจจะผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกเลยก็ได้

3. การใช้คลื่นเสียง RFA (Radiofrequency Ablation) เป็นการฉีดแอลกอฮอล์โดยตรงที่ก้อนมะเร็ง เป็นวิธีการทำลายก้อนมะเร็งด้วยการใช้เข็มแบบพิเศษ (RF needle) ขนาดเท่ากับไส้ปากกาลูกลื่น ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แทงผ่านผิวหนังเข้าไปในก้อนมะเร็งเป้าหมาย โดยใช้หลักการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากเครื่อง ทำให้เกิดคลื่นความถี่สูงประมาณ 375-500 KHz จะทำให้โมเลกุลของเนื้อเยื่อรอบๆ เข็มสั่นสะเทือนและเสียดสีกันจนเกิดความร้อน (Friction heat) ซึ่งจะแผ่กระจายออกไปรอบๆ จนครอบคลุมก้อนมะเร็งทั้งก้อน จากการศึกษาพบว่าความร้อนที่มากกว่า 50 องศาเซลเซียส สามารถทำให้เซลล์ตายได้ ก้อนมะเร็งที่ได้รับการรักษาจะเปรียบเสมือนเนื้อย่าง ซึ่งในต่างประเทศใช้วิธีการรักษามะเร็งตับ RFA นี้กันมานานประมาณ 12 ปีแล้ว ส่วนในประเทศไทยเริ่มใช้กันมา ประมาณ 3-4 ปี ที่ผ่านมานี้เอง แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาเหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาแบบประทังทั้งสิ้น

4. การเปลี่ยนตับ ปัจจุบันแพทย์ไทยก็สามารถปลูกถ่ายตับได้ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งมักมีข้อจำกัดมากมาย ทำให้การเปลี่ยนถ่ายตับมักไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการรักษา

5. การฉายรังสี วิธีการนี้ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากตับที่ดี มักมีผลเสียจากฉายรังสี

มะเร็งตับ ป้องกันได้...

1. แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี แก่เด็กทุกราย รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนถึงวิธีการติดต่อของไวรัสตับอักเสบ บี และซี

2. ลดสาร aflatoxin โดยการเน้นการเก็บอาหารให้แห้งเพื่อลดปริมาณ aflatoxin

3. โรคตับแข็ง โดยการลดการดื่มสุรา

4. ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาดิบ ก้อยปลา เพราะอาจจะทำให้เป็น โรคพยาธิใบไม้ตับหรืออาหารที่หมัก เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า แหนม ฯลฯ เพราะมีสาร ไนโตรซามีน ซึ่งทำให้เป็นโรคมะเร็งตับได้ ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกใหม่ๆ

5. ไม่รับประทานอาหารที่มีเชื้อรา ระมัดระวังอาหารที่ตากแห้ง รวมทั้งอาหารที่เตรียมแล้ว เก็บค้างคืน เพราะอาจมีเชื้อราปะปนอยู่

6. ไม่รับประทานอาหารซ้ำๆ หรืออาหารที่ใส่ยากันบูด

7. ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์


ขอขอบคุณข้อมูลจาก - arokaya.org - nci.go.th - yourhealthyguide.com
read more “มะเร็งตับ..ภัยเงียบที่อาจคุมคาม”

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อาหารต้านโรคตามกรุ๊ปเลือด

0 ความคิดเห็น
วันนี้แนวโน้ม "โภชนาการทางเลือก"โดยการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเพื่อ ต้านโรค และรักษาโรค ไปจนถึง การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง กำลังมาแรง

ความจริง"สารอาหารหลักพื้นฐาน"ที่ร่ายการคนเราต้องการในแต่ละวันมีแค่ 3 ตัวเท่านั้น คือ คาร์โบไฮเดรต (จากข้าว แป้ง น้ำตาล) วันละ 55-60 เปอร์เซนต์ และไขมัน/น้ำมัน (จากกรดไขมัน คอเลสเทรรอล) วันละต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ในหนังสือของ ดร.ทอม วู ได้แนะนำวิธี รับประทานอาหารตามกรุ๊ปเลือด โดยให้เหตุผลว่า กรุ๊ปเลือดเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม จากสถิติทางการแพทย์พิสูทธ์ให้เห็นว่า กรู๊ปเลือดสัมพันธ์กับโรคภัยไข้เจ็บอย่างไม่อาจแยกออกจากัน

คนเลือด กรุ๊ป A
จะมีลักษณะค่อนข้างเป็นด่าง นิสัยอนุรักษ์นิยม หนักแน่น รู้จักอดออม
ควรรับประทานอาหารประเภท :
- มังสวิรัติ
- ควรทานข้าวกล้อง ถั่ว มะเดื่อ และน้ำตาลโมแลสซิส ( สีดำที่เอามาทำซีอิ๊วหวาน)
- ควรทานอาหารที่มีวิตามินบีและซีมาก ๆ เพราะจะช่วยลดปัญหากรดในกระเพาะต่ำ เช่น บร็อกคอรี่ ส้มโอ สับปะรด เชอรี่ และมะนาว รวมถึงผักใบเขียวต่าง ๆ
- ผู้หญิงที่มีเลือดกรุ๊ป A ถ้ามีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรรับประทานหอยทาก เพราะโปรตีนในหอยจะช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง แต่ถ้าอยู่ในวัยกลางคน ควรเสริมด้วยโยเกิร์ตไขมันต่ำ นมถั่วเหลือง ปลาแซลมอน

ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท :
- เนื้อสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและมะเร็ง และต้องระวังอาหารสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอกและแฮม เพราะมีไนเตรท์ซึ่งกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในกระเพาะ
- อาหารประเภทนม ถั่วแดง และอาหารที่มีแป้งสาลีมากเกินไปไม่เหมาะกับชาวกรุ๊ป A เพราะมีผลต่อระบบเผาผลาญ และระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังมีผลให้การทำงานของอินซูลินลดน้อยลง
- ไม่ควรกับการออกกำลังกายหนัก ๆ เพราะจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า หมดแรง และส่งผลโดยตรงให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย


คนเลือดกรุ๊ป AB
ควรรับประทานอาหารประเภท:
· อาหารมังสวิรัติจะให้ผลดีต่อร่างกาย โปรตีนที่เหมาะสมควรมาจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ แต่ควรรับประทานครั้งละน้อย ๆ เพราะกระเพาะของคนกรุ๊ปนี้ผลิตน้ำย่อยไม่เพียงพอที่จะย่อยโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไป
- ชาวกรุ๊ป AB มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงควรรับประทานผักสดมาก ๆ ช่วยป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจ

- ผลไม้ ได้แก่ สับปะรดและส้มโอ ที่ช่วยย่อยได้ดีมาก
· กาแฟ ชาเขียวและไวน์แดงมีผลดีต่อเลือดกรุ๊ป AB

ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท:
· ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่รับประทานได้แต่ไม่มาก หากมีปัญหาไซนัสอักเสบและหูอื้อ ควรงดอาหารจากผลิตภัณฑ์นม เนย ไข่แดง
· ไม่ควรรับประทานปลาเนื้อขาว และปลาแซลมอนรมควัน ถั่วแดงหลวง โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ไม่ควรรับประทานถั่วเม็ด รวมทั้งน้ำมันชนิดต่าง ๆ ยกเว้นน้ำมันมะกอก เพราะจะส่งผลร้ายต่อร่างกาย
· อาหารประเภทข้าวและแป้งมีประโยชน์กับคนเลือดกรุ๊ปนี้ แต่ให้ระวังแป้งข้าวโพด เพราะเป็นตัวการสำคัญทำให้น้ำหนักเพิ่มง่าย เกิดเสมหะ
· ควรหลีกเลี่ยงผลไม้เมืองร้อนบางอย่าง เช่น กล้วย มะม่วง ฝรั่ง รวมทั้ง ส้ม ซึ่งไม่ดีต่อกระเพาะ ยกเว้น
- ส่วนเบียร์ ให้ผลเป็นกลาง แต่ถ้าต้องการลดน้ำหนักไม่ควรดื่ม


คนเลือด กรุ๊ป B
จะมีลักษณะค่อนข้างเป็นกลาง มีนิสัยโอนโยนผ่อนตาม เข้ากับคนอื่นง่าย ผูกมิตรเก่ง
ควรรับประทานอาหารประเภท :
· ชาวกรุ๊ป B เป็นเพียงกรุ๊ปเดียวที่ทานอาหารนมเนยได้เต็มที่
· ข้าวโอ๊ดและข้าวกล้อง ก็มีประโยชน์มากสำหรับชาวกร๊ป B

· ผักส่วนใหญ่ดีต่อสุขภาพของคนกรุ๊ปนี้ ควรทานผักใบเขียวมาก ๆ โดยเฉพาะเด็กกรุ๊ป B เพราะช่วยป้องกันโรคผื่นคัน

ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท:
- ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้ออกไก่ เพราะจะนำไปสู่อาการเส้นเลือดแตกหรือตีบในสมอง และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ควรเลี่ยงแป้งสาลี ถั่วบางชนิดเพราะไม่ดีต่อเลือด มีผลโดยตรงกับต่อความเครียดและโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
-มะเขือเทศห้ามกินโดดเด็ดขาดเพราะมีสารก่อกวนผนังกระเพาะ และข้าวโพดซึ่งมีผลต่อระบบเผาผลาญ · ผลไม้เหมาะกับคนกรุ๊ปนี้มาก ถ้าทานผลไม้ได้วันละ 2-3 ครั้ง จะมีผลดีต่อการรักษาโรคและลดความเจ็บปวด
· ชาวกรุ๊ป B จะตอบสนองกับความเครียดได้ดี เนื่องจากมีบุคลิกภาพยืดหยุ่น ประนีประนอมสูง ไม่ชอบการเผชิญหน้าโดยตรงอย่างคนกรุ๊ป Oขณะเดียวกันร่างกายมีพลังมากกว่ากรุ๊ป A


คนเลือดกรุ๊ป O
จะมีลักษณะค่อนข้างเป็นกรด มีนิสัยหยาบกระด้าง ร่าเริง โมโหง่าย ไม่ชอบอยู่นิ่ง
ควรรับประทานอาหารประเภท :
· มีระบบที่ย่อยอาหารที่ดีมาก จึงเหมาะจะรับประทานโปรตีน

· กินผักผลไม้เป็นหลัก ผักใบเขียวจะให้วิตามินเคสูง ซึ่งจะช่วยให้เลือดแข็งตัวอีกทั้งชาวเลือดกรุ๊ปนี้มักมีปัญหาโรคเลือดไม่แข็งตัวและไทรอยด์ รวมทั้งโรคลำไส้อักเสบที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าเลือดกรุ๊ปอื่นๆ
· ชาวกรุ๊ป O ควรเล่นกีฬา ออกกำลังกายหนัก ๆ และออกแรงมาก เนื่องจากอัตราความเร็วในการเต้นของหัวใจสูงจะเป็นประโยชน์มาก
· ชาวกรุ๊ป O ดื่มไวน์ได้บ้าง


ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท :
· ผู้หญิงกรุ๊ป O ไม่ควรรับประทานแป้งสาลี ข้าวโอ๊ต เพราะมีผลต่อระบบการย่อย ทำให้เกิดการสะสมของไขมัน และทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
· เห็ดหอมและมะกอกดองอาจทำให้เกิดอาการแพ้ มะเขือยาว และมันฝรั่ง ถือเป็นต้นตอให้ปวดข้อ ควรเลี่ยงแคนตาลูป ส้ม สตรอเบอรี่เพราะมีกรดสูงเกินไปสำหรับคนเลือดกรุ๊ปนี้
- ไม่ควรดื่มเบียร์ ชา กาแฟ เพราะจะไปเพิ่มกรดในกระเพาะ ซึ่งคนกรุ๊ป O มีมากพออยู่แล้ว


เอกสารอ้างอิง : วารสาร ชมรมอยู่ร้อยปี – ชีวีเป็นสุข
read more “อาหารต้านโรคตามกรุ๊ปเลือด”

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ช๊อคโกแลตซีสต์... ปวดท้องประจำเดือน

0 ความคิดเห็น












ภัยเสี่ยงหญิงตัดมดลูกทิ้ง...มีบุตรยาก!!!

ผู้หญิงเมื่อประจำเดือนมาทีไร หลายคนมัก มีอาการปวดท้องร่วมด้วยเสมอ แต่หากปวดมากและบ่อยครั้งขึ้น พึงระวัง...อาจเป็น “ช็อกโกแลต ซีสต์” ได้!

นพ. อุดมศักดิ์ ศรีแสงนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์ เล่าถึงการเกิดของโรคช็อกโกแลต ซีสต์ ให้ฟังว่า โดยปกติในระหว่างรอบประจำเดือน เยื่อบุมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลง คือ ใน 1 รอบประจำเดือน จะยาวประมาณ 28 วัน ซึ่งอาจสั้น หรือยาวกว่านี้ ในแต่ละบุคคล โดยนับวันที่ประจำเดือนหมด คือ ประมาณวันที่ 5 รังไข่จะผลิตฮอร์โมนเพศสตรีมากระตุ้นเยื่อบุมดลูกให้ เจริญและหนาตัวขึ้น มีเส้นเลือดนำอาหารมาเลี้ยงมากขึ้นเพื่อเตรียมรับการ ตั้งครรภ์ประมาณ วันที่ 14 ของรอบเดือน เยื่อบุมดลูกจะหนากว่าระยะเริ่มต้นถึง 10 เท่า และช่วงนี้จะมีการตกไข่ ไข่จะถูกจับเข้าไปในท่อนำไข่ และถ้าได้ปฏิสนธิ กับเชื้ออสุจิ จะเคลื่อนเข้าไปในมดลูกและฝังตัว อยู่ในเยื่อบุมดลูก

ถ้าไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ จะสลายตัวไป ระดับฮอร์โมนก็จะลดลงโดยมีการลอกหลุดตัวของเยื่อบุมด ลูกกลายเป็นประจำเดือน ออกมาประมาณวันที่ 28 ของรอบเดือนแล้วก็เริ่มต้นรอบเดือนใหม่เช่นนี้ไปเรื่ อย ๆ ในทุก ๆ เดือน

แต่ สำหรับโรคนี้ เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือน ที่เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งจะมีลักษณะเป็นถุงน้ำที่ภายใ นมีเลือดเคลื่อนตัวออก จากโพรงมดลูกหลุดไปติดตามท่อนำไข่ แล้วไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่าง ๆ เช่น อุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ ลำไส้ ช่องคลอด มดลูก กระเพาะปัสสาวะ โดยหากมารวมอยู่ที่ รังไข่จะเรียกว่า ช็อกโกแลต ซีสต์ มีลักษณะเป็นก้อนกลม ๆ เหมือนช็อกโกแลตซึ่งเป็นเลือดเก่า แทนที่จะออกมาทางช่องคลอดตามปกติ โรคนี้ทางการแพทย์เรียกว่า “เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่” (Endometriosis) “มี อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังเมื่อมีประจำเดือน โดยจะปวดด้านหน้า ตั้งแต่สะดือไปถึงอุ้งเชิงกราน ส่วนด้านหลังตั้งแต่บั้นเอวไปถึงก้นกบ บางคนปวดมาก บางคนปวดน้อยปรากฏการณ์นี้จะเป็นเช่นนี้ทุก ๆ เดือนและเกิดปฏิกิริยาขึ้นทุกครั้งที่มีเลือดออกพร้อ มกับการมีประจำเดือน ทำให้มีเยื่อพังผืดหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในอุ้งเชิงกราน

บางครั้งถุงเลือดที่มีอยู่เดิมแตกออกมา ทำให้เลือดและเยื่อบุมดลูกกระจายไปเจริญขึ้นในที่อื่ น ทำให้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การมีพังผืดตามอวัยวะต่าง ๆ มากเช่นนี้เป็นผลให้การตกไข่ออกจากรังไข่ไปไม่ดีหรือ ไปไม่ได้ และท่อนำไข่ก็ไม่สามารถทำงานในการจับไข่เข้าไปได้ เพราะมีการยึดรั้งจากพังผืดหรือทำให้ ท่อนำไข่ตีบตันเป็นสาเหตุสำคัญของการมีบุตรยาก”

สิ่ง ที่จะบ่งชี้ว่าอาการปวดดังกล่าวเป็นอาการปวดท้องธรรม ดาหรือเป็นอาการปวดของ โรคนี้ คือ อายุ โดยจะพบมากในสตรีที่มีอายุ 30-40 ปี หรือวัยก่อนหมดประจำเดือน ในกรณีที่ไม่เคยปวดมา ก่อน แต่พออายุ 30 ปีขึ้นไปแล้วกลับมีอาการปวดและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละเดือน สันนิษฐานได้ว่าอาจปวดจากเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ ได้

ฉะนั้น เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีประ จำเดือนเท่านั้น โดยก่อนวัยมีประจำเดือนหรือวัยหมดประจำเดือนจะไม่พบโ รคนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ส่วนมากเป็นทางกรรมพันธุ์ พบประวัติว่า มารดา พี่ น้อง เป็นโรคนี้ แต่โชคดี คือ มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะกลายเป็นเนื้อร้าย

วิธีบรรเทาอาการปวดจึงรักษาตามอาการ หากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยจะประคบด้วยน้ำร้อน ปวดกลาง ๆ แต่ทนได้ให้ทานยาแก้ปวด ถ้าปวดมากต้องใช้ยาเฉพาะทานพบว่า ประมาณร้อยละ 43 ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หลัง มีอาการประมาณ 1 ปี

การตรวจร่างกายมักไม่พบความผิดปกติ ที่ชัดเจน หลังการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการทำอัลตรา ซาวด์ อาจจะพบถุงน้ำที่รังไข่ ในบางครั้งอาจต้องใช้วิธีตรวจโดยการใช้กล้องส่องเข้า ไปในช่องท้อง กรณีถุงน้ำที่รังไข่มีขนาดเล็กอาจจะให้การรักษาด้วยย า ร้อยละ 60 ที่รักษาด้วยยาไม่ดีขึ้นต้องผ่าตัด

จากการศึกษาพบว่า การ รักษาอาการปวดที่เกิดจากภาวะช็อกโกแลต ซีสต์ แพทย์นิยมให้ผู้ป่วยฉีดยาคุมกำเนิดทุก 3 เดือน เป็นเวลา 12 เดือน หรือให้ทานยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนต่ำ พบว่า ทั้งสองวิธีได้ผลสามารถทำให้ขนาดของช็อกโกแลต ซีสต์ลดลงภาวะของ โรคช็อกโกแลต ซีสต์ ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดอาการปวดทุกครั้งเมื่อมีประจ ำเดือน ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข หากปล่อยทิ้งระยะเวลาไว้นานอาจทำให้เกิดการสร้างเยื่ อพังผืดขึ้นมาล้อมรอบ ยิ่งถ้าเป็นบริเวณลำไส้ใหญ่จะทำให้ผ่าตัดได้ยาก เนื่องจากขณะทำการผ่าตัดเอาพังผืดออกอาจทำให้มีโอกาส ทะลุไปโดนลำไส้ใหญ่ได้ จำต้องผ่าตัดเพื่อเย็บลำไส้ซ้ำอีกครั้ง

นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า “สตรีที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะมีบุตรยากขึ้นกว่าคนไม่เป ็นโรค บางรายแพทย์ตรวจพบโรคนี้จากการตรวจหาสาเหตุของการ ไม่มีบุตร เมื่อทำการรักษาหรือผ่าตัดช็อกโกแลต ซีสต์ออกไปแล้วอาจทำให้มีลูกได้ แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น”ถ้าเป็น แล้วไม่ต้องกลัว สามารถรักษาได้ แม้จะไม่หาย ขาดมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก แต่ไม่ควรประมาท เพราะ ถ้าปล่อยให้เป็นมาก ๆ อาจถึงขั้นต้องตัดมดลูกทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำใจลำบากในผู้ป่วยบางราย จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพ เช็กร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รักษาแก้ไขได้ทันเมื่อมีอาการปวดในระหว่างมีประจำเดือนอย่าชะล่าใจ... หากอาการปวดนั้นทวีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกเดือน!!.
read more “ช๊อคโกแลตซีสต์... ปวดท้องประจำเดือน”

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"มะเร็งลำไส้" โรคฮิตท็อปทรีของโลก

0 ความคิดเห็น

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal cancer) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นทุกปี
โดยจากสถิติของประเทศไทยล่าสุด พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่สามของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง รองจากโรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งตับ สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนี้

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แซงขึ้นมาเป็นสาเหตุการตายอันดับที่สองของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมดแล้วโรคมะเร็งชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับลำไส้ใหญ่ทุก ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้อง หรือลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ที่เรียกว่าไส้ตรง อันที่จริงแล้วมะเร็งลำไส้ใหญ่ของทั้งสองส่วน จะมีลักษณะโรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างกันบ้าง แต่สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและระยะโรคจะคล้ายคลึงกัน ตำแหน่งที่พบว่าเป็นมะเร็งประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ที่บริเวณไส้ตรง อีกหนึ่งในสามอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ขดขวาและขดซ้าย ส่วนที่ทวารหนัก พบร้อยละ 1-2 ของทั้งหมด
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักพบในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่สามารถพบได้ในทุกอายุ พบได้น้อยในผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ผู้ชายเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
สาเหตุ

1.ปัจจัยทางพันธุกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังบางชนิด จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าปกติ 15-20 เท่า ปัจจุบันพบว่ามียีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายชนิด ได้แก่ MSH2, MLH1 และ PMS2
2.ปัจจัยด้านอาหาร การรับประทานอาหารไขมันสูง หรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ บางการศึกษาพบว่าการขาดสารอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน ที่สำคัญคือ การรับประทานผักและผลไม้ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการรับประทานกลุ่มอื่น ปัจจุบันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากขึ้นในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะเป็นพิษ และอาหารการกินของผู้บริโภคที่นิยมทานอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ข้อมูลมากมายบ่งชี้ว่าการควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายที่พอเหมาะ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่าการดื่มสุราหรือเบียร์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ รวมทั้งการสูบบุหรี่ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

อาการ

ถ้ามีก้อนมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านขวา ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลีย โลหิตจาง และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือคลำได้ก้อนที่ท้อง บางรายอาจมีอาการปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องด้านขวา มีน้อยรายที่ผู้ป่วยมีอาการอุดตันของลำไส้

ถ้ามีก้อนมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย ผู้ป่วยมักมีอาการของลำไส้อุดตันจากก้อนมะเร็งหรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ ท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน ไม่ผายลม ไม่ถ่ายอุจจาระ หรือมีเลือดปนกับอุจจาระ ถ้ามีก้อนมะเร็งบริเวณลำไส้ส่วนตรง จะมีอาการปวดทวารหนัก ถ่ายเป็นเลือดสด มีความรู้สึกถ่ายไม่สุด หรือบางครั้งพบว่ามีก้อนออกทางทวารหนัก ถ้ามีก้อนมะเร็งบริเวณทวารหนัก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะคลำได้ก้อน อาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด ถ่ายแล้วปวด หรือพบว่าต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต

ความรุนแรงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ ระยะของโรค โดยระยะยิ่งมากความรุนแรงของโรคก็มากขึ้น สภาพร่างกายและโรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น ผู้ป่วยอายุน้อย มักมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามเพราะไม่ค่อยได้นึกถึงโรคมะเร็ง ส่วนผู้ป่วยสูงอายุมักมีสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษา ขนาดของก้อนมะเร็ง ยิ่งมีขนาดโตมากความรุนแรงของโรคจะมากกว่าในผู้ป่วยซึ่งขนาดก้อนมะเร็งเล็กกว่า การที่มีมะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง ความรุนแรงของโรคก็จะมากกว่าการไม่มีการลุกลามของโรค

การวินิจฉัย

การซักถามประวัติอาการและการตรวจร่างกายอย่างะเอียด รวมทั้งการตรวจทางทวารหนัก การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก การส่องกล้องทางทวารหนักและการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางด้านพยาธิวิทยา ตรวจหาระยะของโรค เช่น การตรวจช่องท้องด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการทำงานของตับ ไต หรือ โรคเบาหวานเป็นต้น

การตรวจภาพสแกนของกระดูก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมาก เพื่อตรวจว่าได้มีโรคแพร่กระจายไปกระดูกหรือไม่ การตรวจอัลตราซาวด์ตับ ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปที่ตับ

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณร้อยละ 25 อาจได้รับการวินิจฉัยเบื้องตันผิดพลาดเป็นโรคของถุงน้ำดีและแผลในกระเพาะ หรือโรคของลำไส้ใหญ่ชนิดอื่นๆ อาการปวดท้องด้านล่างข้างขวาอาจคล้ายอาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ ผู้ป่วยที่มีปัญหาโลหิตจางร่วมกับน้ำหนักลด ต้องนึกถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีที่มีอาการเลือดออกทางทวารหนักควรได้รับการตรวจละเอียดทุกราย
ระยะต่าง ๆ ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ระยะที่ 1 - โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้

ระยะที่ 2 - มะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และ/หรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง

ระยะที่ 3 - มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง

ระยะที่ 4 - มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามตามกระแสโลหิตไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด หรือกระดูก เป็นต้น

การรักษา

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะได้ผลดีมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับระยะของโรคขณะเริ่มต้นรักษา ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เช่น การตรวจอุจจาระซึ่งทำได้สะดวก รวดเร็วและสิ้นเปลืองน้อย หรืออาจตรวจลำไส้ละเอียดมากขึ้นด้วยการสวนสารทึบแสง ตลอดจนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อบ่งชี้ในการเลือกใช้ที่แตกต่างกัน

การผ่าตัด ถือเป็นการรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป ในบางครั้งถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาก หรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือชนิดลวดเย็บมาช่วยต่อลำไส้ ทำให้สามารถผ่าตัดมะเร็งที่อยู่ต่ำๆ โดยอยู่เหนือรูทวารหนักเพียง 4-5 เซนติเมตร ได้โดยไม่ต้องทำทวารเทียม

รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด โดยแพทย์จะประเมินจากลักษณะการลุกลามของก้อนมะเร็งและโอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไปการฉายรังสีรักษามักใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์

ยาเคมีบำบัด อาจให้ก่อนการผ่าตัด และ/หรือหลังผ่าตัด ร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ การใช้ยาเคมีบำบัดไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาเคมีบำบัดจะได้ผลดีขึ้นกับพันธุกรรมของผู้ป่วย โดยสามารถตรวจได้ล่วงหน้าว่าผู้ป่วยรายนั้นจะได้ผลตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหรือไม่

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลาม ปัจจุบันใช้ยา cetuximab ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็งในรูปแบบชีวบำบัด จัดเป็นแนวทางการรักษาใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า targeted therapy หมายถึงการรักษาตามเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง โดยตัวยาออกฤทธิ์ต้านตัวรับสัญญาณเซลล์มะเร็ง EGFR โดยเฉพาะ จะมีผลให้ลดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้การติดตามผลการรักษาก็ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก

โดยภายหลังรักษาครบตามกระบวนการแล้ว แพทย์จะนัดตรวจผู้ป่วยสม่ำเสมอ โดยในปีแรกอาจนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ภายหลังรักษาครบ 2-3 ปีไปแล้วอาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ภายหลัง 3-5 ปี อาจนัดตรวจทุก 3-6 เดือน และถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว อาจนัดตรวจทุก 6-12 เดือน ในการนัดมาทุกครั้งแพทย์จะซักประวัติและทำการตรวจร่างกาย

ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือด หรือเอกซเรย์จะทำตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นราย ๆ ไปไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยควรมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอและควรนำญาติหรือผู้ให้การดูแลมาด้วย เพื่อจะได้ร่วมปรึกษาวางแผนการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
read more “"มะเร็งลำไส้" โรคฮิตท็อปทรีของโลก”

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ชีวิตสู้มะเร็ง อ.ภูสิต เพ็ญศิริ

0 ความคิดเห็น
ทุกคนต่างกลัวความตายกันทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถเอาชนะ และใช้ชีวิตได้อิสระเสรียิ่งกว่าเก่า เหมือนอาจารย์ภูสิต เพ็ญศิริ

เขาพาตัวเองให้พ้นมือมัจจุราชด้วย "ความรู้" ได้นานกว่า 7 ปีแล้ว
หลังสิ้นเสียงทักทายพร้อมรอยยิ้มสดใส กับร่างกายที่ฟิตผิดจากคนป่วยด้วยโรคร้าย จึงอดถามไม่ได้ว่า "คุณเป็นมะเร็งจริงหรือ?"

"ผมก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้มาก่อนเลย เพราะเชื่อว่าโรคที่ผมเป็นตอนเด็ก ทั้งโลหิตจาง ภูมิแพ้ ไทฟอยด์ขึ้นสมอง น่าจะทำให้ผมโชคร้ายที่สุดแล้ว จึงไม่น่าจะมีอะไรมาทำร้ายผมอีก แต่ผมก็โดนมะเร็งเล่นงานเอาจนได้"
เพราะความผิดปกติของน้ำหนักตัวลดลงเกือบ 10 กิโลกรัมภายในเดือนเดียว และความรู้สึกเหนื่อยง่ายกับการสอนหนังสือต่อเนื่องทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ร่างกายของภูสิต เพ็ญศิริ ค่อยๆ ทรุดลง จนเขาเริ่มสงสัยแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น !!

ผลการตรวจสุขภาพประจำปีครั้งใหญ่ และผลการตรวจไขกระดูกพบคุณภาพเกล็ดเลือดต่ำกว่ามาตรฐาน กลายเป็น "เดดโน้ต" ชี้ชะตาภูสิตว่า "เขาเป็นมะเร็งเม็ดเลือด"
และจุดนี้เองกระบวนการคิดชั้นพิเศษ "เพื่อความอยู่รอด" ก็เกิดขึ้น

"ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าเป็นมะเร็งต้องตาย พอคิดอย่างนั้น อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราไม่อยู่แล้ว พ่อแม่จะไม่มีใครดูแลใช่มั้ย นั่นไง เราต้องอยู่ต่อไปสิ ความคิดมันไหลออกมาทันทีว่าจะทำอย่างไร แล้วผมต้องทำอะไรบ้าง และความโชคดีของลูกคนเดียวนี่เอง ทำให้ผมต้องหัดคิดเอง ตัดสินใจเอง นั่นทำให้เป้าหมายของผมชัดขึ้นมากในตอนนั้น"

เมื่อฟันธงว่าตัวเองจะต้องไม่ตาย ภูสิตจำเป็นต้องใช้พลังมหาศาลเพื่อสร้างกำลังใจให้กับตัวเองก่อน โดยอาศัย "ขุมความรู้" ที่สั่งสมมา

เขาขุดความสนใจโหราศาสตร์ตั้งแต่สมัยมัธยม เพื่อตรวจดวงชะตาจากวันเดือนปีเกิดตัวเองว่าถึงฆาตหรือไม่ ผลคือปีนี้จะมีเพียงกรรมเก่าตัดทอน ยังไม่มีดวงถึงเคราะห์

นั่นทำให้ที่ปรึกษาการตลาดวัย 39 ปี ใจพองขึ้นหลายเซนฯ และมั่นใจที่จะรักษาตัวด้วยยาเคมีบำบัดหรือคีโมเทอราปี แม้ว่าแพทย์เองยังไม่รับรองว่ายาชนิดนั้นจะตอบสนองกับเขาก็ตาม แต่ภูสิตกลับเชื่อว่าร่างกายมนุษย์มีเวลารักษาตัวเอง (Reset) หากเราสดชื่นกับมัน อาจไปไหว้พระเสริมดวงเพิ่มความสบายใจ ร่างกายก็จะมีต่อมบางอย่างผลิตสารเพื่อช่วยฆ่าโรคได้

นอกจากกระตุ้นกำลังใจด้วยตัวเองแล้ว หากคนรอบข้างจะร่วมบริหารจิตวิทยาผู้ป่วยบ้าง อาจารย์ภูสิต เสริมขึ้นว่า ต้องกระตุ้นให้คนป่วยรู้ว่าต้องทำอะไร หรืออยากทำอะไร เร้าให้เขาสร้างวิธีคิดด้วยตัวเอง และให้กำลังใจตัวเองตลอดเวลา (Motivation) พยายามเปลี่ยนวิธีคิดแบบเดิม ชวนให้เขาค้นหาศักยภาพที่มีในตัว หรือพูดเรื่องทำความฝันด้วยตัวเขาเอง

"เพราะตอนนั้นคนเป็นมะเร็งไม่ต่างจากเด็ก 2 ขวบ พูดอะไรไปก็เท่านั้น เพราะอย่างไรเขาก็จมปลักกับความคิดของตัวเองอยู่ดี แล้วถ้ายิ่งไปถามว่ารู้ได้ยังไงเมื่อไรว่าเป็นมะเร็ง เป็นยังไงบ้าง คนป่วยไม่อยากพูดในสิ่งที่ตัวเองแย่ซ้ำๆ หรอก ผมเลยไม่ยอมให้ใครมาเยี่ยม แต่จะบอกเพื่อนๆ ว่า ถ้าหายจะไปหาเอง แต่ถ้าจะมาเยี่ยมก็มาให้ตลอดนะ"

หลังจากฟื้นฟูจิตใจให้พร้อมสู้ศึกที่เดิมพันด้วยชีวิตแล้ว กรรมการผู้จัดการบริษัทนาโนเสิร์ชต้องเลือกที่จะดร็อปงานหนักซึ่งสร้างรายรับนับแสนบาทต่อเดือน แล้วตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่รัก นั่นคือการเป็นครู
แม้จะไม่คุ้นเคยกับรายได้เพียงหลักหมื่น แต่ภูสิตบอกว่า ส่วนต่างที่หายไป คือการได้สุขภาพจิตดีๆ กลับมา
จาก อารมณ์ "ติสท์" ของลูกศิษย์มัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในขณะเดียวกัน เขาก็ยังสานต่องานเก่า นั่นคือที่ปรึกษาลงทุนต่างประเทศธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ผู้นำพานักธุรกิจเอสเอ็มอีไทยไปจีน และวิทยากร อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนหลายแห่ง เพียงแต่ต้องลดเวลาการทำงานลง และบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสอนเสร็จ ก็จำเป็นพักหลับทันที

หลังจากเสร็จสิ้นภาระสร้างเงิน ภูสิตก็ต้องกลับมาดูแลตัวเองโดยอาศัยทฤษฎี "โรคทุกโรคมีอาหารของมัน หากคุณไม่ให้อาหารมัน มันก็ตาย" เป็นพื้นฐาน

แล้วอะไรคืออาหารของมะเร็ง? เขาคิดได้ว่านอกจากความเครียดที่เป็นตัวการสำคัญแล้ว หลายคนบอกว่า "อาหาร" ก็เป็นมฤตยูเช่นกัน

แต่สำหรับอาจารย์ภูสิต เขายังรับประทานอาหารตามปกติ โดยยึดคอนเซปต์ขำขำว่า "ถ้าจะตาย ขอตายอย่างอร่อย" ขณะเดียวกันเขาก็รู้ว่าต้องกินอะไรเข้าไปเพื่อทำให้ร่างกายสมดุล

ภูสิตเล่าให้ฟังว่า เขามีสูตรเด็ดเคล็ด (ไม่) ลับเพื่อพิชิตโรค เริ่มจากปรับพฤติกรรมการกินบ้าง เช่น ส้มตำปลาร้า เขาก็เปลี่ยนจากมะละกอเป็นแครอท หรือเตือนตัวเองให้หยิบคะน้าตามหลังหมูมะนาวรสแซบ เพื่อขับสารพิษออกไป และหากตามใจปากจนเกินไป เขาจะใช้อาหารดีทอกซ์ ขับปัสสาวะ ขับสารพิษในไต โดยเลือกสะตอผัดกะปิ และผัดเผ็ดเป็นฮีโร่

นอกจากอาหารหลักแล้ว ภูสิตยังครีเอทเมนูเครื่องดื่มสูตรมหัศจรรย์ อย่าง น้ำแอ๊บแบ๊ว ซึ่งประกอบด้วยน้ำเก๊กฮวยหรือจับเลี้ยงครึ่งกระป๋องผสมน้ำให้เจือจาง แล้วเติมน้ำผึ้งเข้าไปสักหนึ่งช้อนชา เพราะน้ำผึ้งจะดูดซึมเข้าเม็ดเลือดทันที และต้านอนุมูลอิสระ จึงทำให้ใบหน้าอิ่มเอิบและเกิดสีชมพูระเรื่ออย่างไม่น่าเชื่อ หรือแม้กระทั่งน้ำมะพร้าว เพราะทำให้หยินหยางในร่างกายสมดุล และมันยังช่วยฟอกเลือดอีกด้วย

ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามสร้างกล้ามเนื้อด้วยฟิตเนส เพื่อเผาผลาญเหงื่อให้ระบบขับถ่ายของเสียได้ทำงานไปพร้อมๆ กัน

ตอนนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 อาจารย์ภูสิตได้ผ่านวัฏจักรของอาการทรุด ซึ่งจะมาทุก 4 ปีไปแล้ว ด้วยการสร้างขวัญกำลังใจอีกครั้ง กลับไปตั้งต้นใหม่ และบอกกับใครๆ ว่ามะเร็งหมดมุก

อีกทั้งยังใช้หลักความเชื่อของตนเองว่าจะชนะโรคร้ายด้วย 4 ศาสตร์ ได้แก่
- แพทย์ปัจจุบัน จากการรักษาคีโมเพื่อยับยั้งเชื้อไม่ให้ลุกลาม
- แพทย์ทางเลือก อย่างการดีท็อกซ์ร่างกาย
- การสร้างขวัญกำลังใจอย่างเป็นระบบตลอดเวลา โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเอง พ่อแม่ หรือลูกศิษย์
- สุดท้ายคือการเชื่อเรื่องบุญ ธรรมะและบุญจะรักษาเรา จึงไปขอพรพระพุทธศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เรื่อยๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดคนเก่งย้ำว่า ชีวิตเป็นของเรา เราสามารถบริหารจัดการได้ หากคิดว่ารอด มันจะมีแนวทางให้เราสมหวัง เพียงแต่ต้องตั้งสติแล้วมองหาทางออก หาแหล่งความรู้ กระตุ้นตัวเอง ทำบุญให้มาก อย่าไปกลัวมันก่อน ถ้ารู้ว่าจะรับมันไม่ได้ ก็อย่าให้มันเกิดแต่แรกดีกว่า

"กลับเป็นความโชคดีที่ผมเป็นมะเร็ง เพราะมันทำให้ผมรู้ว่าเราจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร เมื่อเราผ่านมันมาได้แล้ว ผมก็สามารถบอกกับคนอื่นๆ ได้ว่า อย่าไปกลัวมัน อย่าไปคิดว่าต้องตาย มันมีวิธีบริหารจัดการกับมะเร็งได้นะครับ"
ชื่อ : อ.ภูสิต เพ็ญศิริ
ข้อมูลการศึกษา : ปริญญาตรี ภาควิชารัฐศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
: ปริญญาโท นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะบริหารธุรกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์
ประสบการณ์การทำงาน : ผู้อำนวยการศูนย์ SBIC
: ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด
: อาจารย์พิเศษด้านการสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลัยศิลปากร,มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น,มหาวิทยาลัยรังสิต
ที่มา: โดย : ชฎาพร นาวัลย์ chadaporn_n @ nationgroup.com
read more “ชีวิตสู้มะเร็ง อ.ภูสิต เพ็ญศิริ”

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วิธีรักษามะเร็งแบบธรรมชาติ

0 ความคิดเห็น
พ่อเลี้ยงวรรณฯ เจ้าของรวมเกษตรฟาร์ม มาบรรยายวิธีรักษามะเร็ง ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์ จึงนำมาถ่ายทอดให้เพื่อนๆฟัง ดังนี้

พ่อเลี้ยงวรรณฯ อายุ 60 ปี เป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายที่กระดูกสันหลัง คุณหมอทั้งไทยและเยอรมัน ไม่รับรองว่า จะรักษาหาย จึงไปทำการรักษาที่เกาหลีเหนือ เป็นเวลา 1 เดือน ก็หายจากโรค กลับมาเมืองไทยจึงตั้งเป็นมูลนิธิวรรณ รับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งฟรี!!! ปัจจุบันมีผู้รับการรักษา 100กว่าคน ณ อ.แม่สอดห่างจาก จ.ตาก 100 กม.วิธีการรักษามะเร็ง แบบธรรมชาติง่ายๆ 4 ข้อ ดังนี้

1.จิตใจ ต้องสู้

2.อาหาร งดเว้นเนื้อสัตว์ (ปลารับประทานได้) แล้วหันมารับประทานอาหารที่มะเร็งไม่รับประทาน 15 ชนิด ได้แก่

2.1 ธัญพืช 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวกล้อง, ข้าวม้ง, ข้าวบาเล่ย์, ข้าวสาลี, และลูกเดือย นำมาหุงด้วยหม้อข้าวไฟฟ้า

2.2 ผักผลไม้ 10 ชนิด ได้แก่
- หอมหัวใหญ่
- มันฝรั่งหรือมันเทศ
- กล้วยน้ำว้าสุก (8ลูก/วัน)
- ฟักทอง
- ข้าวโพดหวาน
- ยอดแค (ชนิดนี้ห้ามขาด)
- ถั่วพู (ชนิดนี้ห้ามขาด)
- บลอคโคลี่หรือกะหล่ำดอก
- ถั่วหวาน
- คะน้าฮ่องกง
(ผักผลไม้ 5 ชนิดแรกใช้นึ่ง)

นำทั้ง 10ชนิด หั่นเป็นชิ้นๆ นำมาเข้าเครื่องปั่นแบบไม่ต้องละเอียดมาก เพื่อให้กระเพาะอาหารทำหน้าที่ย่อย จากนั้นนำมารับประทานหนัก 1 กก./วันกับธัญพืช

3. อาบน้ำ ร้อนสลับเย็นหรือเย็นสลับร้อนอย่างละ 2 นาที รวมเวลา 10 นาที 1ครั้ง/วันเตรียมน้ำร้อน โดยใช้เครื่องทำน้ำร้อน เตรียมน้ำเย็นโดยหาถังน้ำใส่น้ำแข็ง แล้วอาบร้อนจัดและเย็นจัด เท่าที่ร่างกายทนได้ ภูมิต้านทานโรคทั้งสิ้น 2 จำพวก จะถูกกระตุ้นขึ้นมาทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

4.การออกกำลังกาย เดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ ประมาณ 45 นาที/วัน

ถ้าเพื่อนสนใจ สามารถเขียนจดหมายติดต่อ ขอรับธัญพืช ปลอดสารพิษจากไร่ อ.แม่สอด ได้ฟรี! ตามสถานที่ข้างล่างนี้

"มูลนิธิวรรณ"เลขที่ 3/681 ประชานิเวศน์ ถ.เทศบาลนิมิตเหนือ ลาดยาว จตุจักร กทม.
เบอร์โทรศัพท์มือถือ พ่อเลี้ยงวรรณ 086-7886222

เป็นทางเลือกหนึ่งนะลองศึกษาดู
read more “วิธีรักษามะเร็งแบบธรรมชาติ”

10 อันดับ อาหารต้านมะเร็ง

0 ความคิดเห็น
1. ผัก - ผักมีกากใยปริมาณมาก ซึ่งผักที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านมะเร็ง ได้แก่

** กลุ่มผักมีสี เช่น บีทรูท ผักโขม แครอท มะเขือเทศ ยิ่งมีสีเข้มมมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงว่ามีสารที่มีประโยชน์ (phytochemical) มากขึ้นเท่านั้น รงควัตถุเหล่านี้ได้แก่ ไบโอฟลาวินอยด์ 20,000 ชนิด และแคโรทีนอยด์ 800 ชนิด ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องร่างกายและยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการทำลายเซลล์มะเร็ง

** กลุ่มกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี กะหล่ำดอก ในผักชนิดนี้จะมีสารต้านมะเร็ง สารที่ช่วยขจัดสารพิษ ตลอดจน อินดอล-3-คาร์บินอลและซัลโฟราเฟน

** หัวหอม&กระเทียม – ประกอบด้วยไบโอฟลาวินอยด์หลายชนิดด้วยกัน หนึ่งในนั้นได้แก่ เคอร์ซิทิน ซึ่งสามารถเปลี่ยนเซลล์มะเร็งให้เป็นเซลล์ปกติได้ นอกจากนี้ยังมีสารต้านมะเร็งอื่นๆ ได้แก่ อัลลิซิน , เอส-อัลลิล ซิสทีอิน, ซีลีเนียม และสารที่เรายังไม่รู้จักอีกมากมาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดี ที่เราจะรับประทานกระเทียมและหัวหอม เป็นประจำ

2. ปลาน้ำเย็น เช่น แซลมอน คอท แมคเคอเรล ซาร์ดีน ทูน่าและปลาจากทะเลน้ำลึก ในปลา เหล่านี้จะอุดมไปด้วยไขมันที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ได้แก่ EPA (eicosapentaenoic acid) และ DHA ( docosahexaenoic acid) ซึ่งชะลอการแพร่ของมะเร็ง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และยังประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆที่พบในน้ำทะเล แต่ไม่พบในดิน

3. ถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง ในถั่วเหล่านี้พบว่ามีสารต้านโปรตีเอสในปริมาณสูง(มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง) นอกจากนี้ยังพบว่ามีอินโนซิทอล เฮกซาฟอสเฟต(กรดไฟตริก ซึ่งในท้องตลาด จะขายในรูปของ IP-6) และจีเนสเตอิน (ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งตีบลง) นอกจากนี้ในถั่วยังอุดมไปด้วยกากใยที่สามารถละลายน้ำได้ ซึ่งจะช่วยในขบวนการทำความสะอาดของร่างกายตามธรรมชาติ

4. เมล็ดธัญพืช เช่นข้าว โอ๊ต บาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวสาลี เนื่องจากเมื่อกากใยของพืชเหล่านี้แตกตัวที่ลำไส้จะเปลี่ยนเป็นกรดบิวไทริกที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง

5. สาหร่ายทะเล จะประกอบด้วยสารบางชนิดที่ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และยังประกอบด้วยกากใยชนิดพิเศษที่สามารถละลายน้ำได้ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการนำไขมันอันตราย สารอนุมูลอิสระ สารพิษต่างๆออกจากลำไส้ นอกจากนี้สาหร่ายทะเลยังเป็นแหล่งของแร่ธาตุอย่างดีจากน้ำทะเล

6. เบอร์รี่ เช่น ราสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ เชอร์รี่ เบอร์รี่สีดำ เพราะในเบอร์รี่จะมีสารต้านมะเร็งในปริมาณสูง และยังมีกรดอัลลาจิกที่จะทำลายเซลล์มะเร็งให้ตาย

7. โยเกิร์ต เนื่องจากในโยเกิร์ตจะมีแบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลัส ที่สามารถหมักนมให้เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน และเนื่องจากกว่า 80% ของระบบภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ทางเดินอาหาร ดังนั้นโยเกิร์ตจึงเป็นอาหารที่จัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับร่างกายในการป้องการติดเชื้อและยังช่วยต้านมะเร็งอีกด้วย

8. ชาเขียว ประกอบด้วยคาเทชินและสารเคมีในพืชอีกหลายชนิดด้วยกัน จากงานวิจัยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติประเทศญี่ปุ่นและจีน พบว่าชาเขียวสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งและยังสามารถเปลี่ยนเซลล์มะเร็งให้เป็นเซลล์ปกติได้

หมายเหตุ การดื่มชาเขียวให้ได้รับประโยชน์เต็มที่นั้น ต้องดื่มทันทีหลังจากชงเสร็จ เนื่องจากถ้าทิ้งไว้ชาเขียวจะทำปฎิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ทำให้สูญเสีย คุณค่าไป

9. เครื่องเทศ -มาสตาร์ด พริก พริกไท กระเทียม หัวหอม ขิง โรสแมรี่ อบเชยและเครื่องเทศอื่นๆที่ใช้ปรุงแต่งรส สามารถต้านมะเร็งและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

10. น้ำสะอาด - เป็นเรื่องแปลกที่กว่า 2 ใน 3 ของพื้นที่บนโลกและของร่างกายนั้นประกอบด้วยน้ำ เนื่องจากน้ำนั้นเป็นเป็นสารตัวกลางสำคัญของร่างกายที่ใช้ในขบวนการต่างๆของเซลล์ อาทิเช่น ควบคุมสมดุลกรด-ด่าง การทำความสะอาด การขจัดสิ่งสกปรก และยังนำพาสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่เซลล์ ตลอดจนนำของเสีย หรือสารพิษออกจากเซลล์อีกด้วย

ที่มา: เรียบเรียง โดย บริษัท กู๊ดเฮลท์ ประเทศไทย จำกัด
read more “10 อันดับ อาหารต้านมะเร็ง”

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ข้อแนะนำ 10 ประการเพื่อชีวิตที่ห่างไกลมะเร็ง

0 ความคิดเห็น
แพทย์จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีข้อแนะนำ 10 ประการ เพื่อชีวิตที่ห่างไกลมะเร็ง
1.ลดหรือเลิกบุหรี่
มะเร็งปอดคร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดในบรรดามะเร็งชนิดต่างๆ หากผู้สูบพยายามลด ละ เลิก เสียแต่วันนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งสำคัญที่สุด ที่จะลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดและโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากบุหรี่ แม้การเลิกจะยาก แต่แพทย์มีวิธีการเลิกแบบต่างๆ ให้คุณปรึกษาได้

2.กินอาหารมีประโยชน์
กิน ผัก ผลไม้สด ผ่านการปรุงให้น้อยที่สุด เช่น บรอกโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในการต่อสู้กับมะเร็ง รวมทั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญในตำรับอาหารต้านมะเร็ง นอกจากนี้ผลเบอร์รี่ ถั่วแดง และชาเขียว ก็อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับไวน์แดง ช็อกโกแลต และถั่วพีแกน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ช่วยร่างกายต่อต้านปฏิกิริยาเคมีที่ส่งผลร้ายต่อเซลล์ปกติ ซึ่งในท้ายที่สุดอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็ง และควรเลือกรับประทานแต่พอประมาณ

3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายนานครั้งละ 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ การออกกำลังกายในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงแบบนักกีฬา แต่การเล่นโยคะ เดิน หรือเต้นแอโรบิก ก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งได้ดีที่สุดเช่นกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยไม่ให้คุณเป็นโรคอ้วน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลายชนิด

4.ตรวจสุขภาพประจำปี
มีหลักฐานยืนยันว่า การตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจพบมะเร็งแต่เนิ่นๆ ทำให้โอกาสที่จะรักษาจนหายก็มีมากขึ้นเท่านั้น และยังช่วยให้การรักษาฟื้นฟูทำได้เร็วขึ้นโดยมีผลข้างเคียงลดลง ดังนั้น ควรตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และขอคำแนะนำจากแพทย์เรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งที่เหมาะสมกับวัยของคุณ เช่น ผู้หญิงในวัย 40 ปีขึ้นไป ควรทำเมมโมแกรมเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม หรือชายวัย 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก โดยที่มะเร็งบางชนิดอาจไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก

5.ดื่มแต่พอดี
การดื่มสุรามากเกินไปเป็นผลร้ายต่อตับมากเป็นพิเศษ แม้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะคือไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน

6.กรรมพันธุ์
มะเร็งหลายชนิดมักเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าสามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ หากทราบว่าคนในครอบครัวมีประวัติเจ็บป่วยด้วยมะเร็งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการป้องกันมะเร็ง โดยการพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและควรแจ้งประวัติการป่วยของคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์จะให้คำแนะนำและดูแลคุณได้อย่างเหมาะสม

7.หลีกเสี่ยงแสงแดด
รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งผิวหนัง ซึ่งส่วนมากแล้วสามารถป้องกันได้ 2 วิธี คือใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เมื่อต้องอยู่กลางแจ้งและพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรงในช่วงเวลา 10.00-16.00 น ซึ่งเป็นช่วงที่รังสียูวีมีความเข้มสูงสุด

8.มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก เชื่อกันว่าร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากเชื้อ HPV ซึ่งเชื้อนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่ทวารหนักและอวัยวะเพศอีกด้วย แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อ HPV ได้ในระดับหนึ่งโดยต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์

9.นอนหลับให้สนิท
จากการศึกษาพบว่าการนอนหลับให้สนิทจะมีผลไม่ทำให้เป็นมะเร็ง เนื่องจากมีผลการศึกษาพบว่า เมลาโทนินซึ่งเป็นฮฮร์โมนที่สมองผลิตในระหว่างการนอนหลับสนิทมีคุณสมบัติในการต่อสู้กับมะเร็ง แต่เมลาโทนินจะช่วยป้องกันมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อการนอนนั้นเป็นการนอนหลับที่สนิทต่อเนื่องในห้องมืดเท่านั้น

10.เลี่ยงการเผชิญกับสารเคมีอันตราย
สารจำพวกยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันเบนซิน เต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายที่เกี่ยวโยงกับการเกิดมะเร็ง แม้การควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในบ้าน หรือที่ทำงานย่อมเป็นการลดโอกาสในการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารกันไฟซึ่งมักจะใช้กับผ้า เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าอิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ ด้วย

ที่มา:โพสต์ทูเดย์
read more “ข้อแนะนำ 10 ประการเพื่อชีวิตที่ห่างไกลมะเร็ง”

มะเร็งชนิดต่าง ๆ

0 ความคิดเห็น
มะเร็งอาจเกิดกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ ผู้หญิง หรือผู้ชาย จะร่ำรวยหรือยากจน มะเร็งยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้คน ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

แต่อย่ากังวลใจจนเกินไป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีวิธีการสังเกตมะเร็งชนิดต่างๆ ในเบื้องต้นมาให้คุณเฝ้าระวัง หากมีแนวโน้มเข้าข่ายอย่ารอช้า การรีบไปพบแพทย์อย่างทันท่วงทีสามารถช่วยรักษาโรคร้ายได้แน่ๆ

มะเร็งปากมดลูก
อาการมีเลือดออกจากช่องคลอดทั้งๆ ที่ไม่ใช่เวลารอบเดือนปกติ อาการเจ็บปวดและมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ หากพบว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นการตรวจโดยขูดเนื้อเยื่อจากบริเวณดังกล่าวไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะรู้ได้แม่นยำขึ้น

มะเร็งในมดลูก
อาการมีเลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือบางครั้งอาจมีความรู้สึกว่ามีก้อนเนื้อหรือมีอาการบวมในช่องท้อง

มะเร็งรังไข่
อาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือการมีอาการเจ็บปวดหลังการมีเพศสัมพันธ์ มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้อาการท้องอืดอาหารไม่ย่อย น้ำหนักลดและมีอาการปวดหลัง

มะเร็งในเม็ดเลือด (ลูคีเมีย)
อาการเหนื่อยง่ายและมีอาการซีดเซียวกว่าปกติ มักเกิดอาการฟกช้ำดำเขียว หรือมีเลือดออกทางผิวหนังได้ง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ และมักจะเกิดร่วมกับอาหารปวดตามข้อต่างๆ ทั่วร่างกาย บางครั้งจะท้องอืด และเมื่อคลำดูจะพบว่ามีก้อนบวมที่ด้านซ้ายของช่องท้อง

มะเร็งปอด
มักมีอาการไอบ่อยๆ มีเลือดออกและมีเสมหะปนมากับน้ำลายน้ำหนักลดอย่างฮวบฮาบ เจ็บ หน้าอก และหายใจลำบาก หรืออาจมีอาการหอบปนอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

มะเร็งตับ
ปวดในช่องท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตาและผิวเป็นสีออกเหลือง และเหลืองจัดจนเห็นได้ชัด
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
อาการ- มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ

มะเร็งสมอง
มักปวดศีรษะนานๆ และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียนหรือการผิดปกติของการมองเห็น ตาพร่า และเห็นแสงเขียวๆ แดงๆ ลอยไปมาเวลาปวดศีรษะ อ่อนเพลียไม่มีแรง หรือการเป็นลมโดยกะทันหัน อวัยวะบางส่วนของร่างกายหยุดทำงาน เช่น มีอาการชาและเป็นอัมพาตชั่วคราว ควรให้ความระวังเป็นพิเศษ หากคุณเคยมีประวัติการปวดหัวที่มีอาการเหล่านี้ประกอบอยู่ด้วย

มะเร็งในช่องปาก
มีก้อนบวมอยู่ในปาก หรือที่ลิ้นเป็นเวลานาน มีแผลเปื่อยที่ปากที่ไม่ได้รับการรักษา หรือเป็นแผลเรื้อรังที่เหงือก เนื่องจากการกดทับของฟันปลอมที่ใส่ไว้ประจำหรือเป็นเวลานาน

มะเร็งในลำคอ
มีอาการเสียงแหบพร่าไปทันที มีก้อนบวมในทันทีทำให้รู้สึกว่ากลืนอาหารได้ลำบาก หรือมีการขยายตัวของต่อมในลำคอที่โตขึ้นจนสามารถจับและรู้สึกได้

มะเร็งในกระเพาะอาหาร
น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว อาเจียนออกมาเป็นเลือด ท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อยบ่อย รู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้องอกในช่องท้องหรือรู้สึกตื้อ แม้เพิ่งจะรับประทานอาหารไปได้ไม่กี่คำ

มะเร็งทรวงอก
มีเลือดหรือของเหลวบางอย่างไหลออกมาจากหัวนม หัวนมบวมหรือผิวเนื้อทรวงอกหนาขึ้น มีก้อนบวมจนจับได้เมื่อคลำบริเวณใต้รักแร้ บางครั้งอาจมีตุ่มหรือสิวเกิดขึ้นที่เต้านมเป็นเวลานานควรระวังเพราะผู้หญิง 9 ใน 10 คน จะมีอาการบวมของก้อนเนื้อบริเวณทรวงอกโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อมีอายุมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำใต้ผิวหนังที่เรียกว่าซีสต์ ซึ่งควรต้องค้นหาสาเหตุของอาการบวมให้ชัดเจน

มะเร็งลำไส้
น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการปวดท้องอย่างมาก และระบบการย่อยผิดปกติ มีเลือดออกปนมากับอุจจาระ ซึ่งมีวิธีสังเกตของผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับริดสีดวงทวารอยู่แล้ว คือ ถ้าใช้กระดาษทิชชูซับแล้วเลือดมีสีแดงสด นั่นคืออาการของริดสีดวงทวาร แต่ถ้าเลือดมีสีดำคล้ำนั่นคืออาการของโรคมะเร็งในลำไส้

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
อาการมีก้อนบวมเกิดขึ้นที่ใต้รักแร้หรือใต้ขาหนีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ได้เกิดอาการติดเชื้อในบางส่วนของร่างกาย

มะเร็งผิวหนัง
อาการ - มีแผลหรือแผลเปื่อยพุพองที่ไม่ได้รับการรักษาอยู่เป็นเวลานาน ตลอดจนไฝหรือหูดที่โตขึ้น และมีการเปลี่ยนสีหรือรูปร่างขนาด นอกจากนี้อาการอันตรายอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า เมลาโนมา (Melanoma) คือเนื้องอกที่ประกอบด้วยเซลล์ที่มีเมลานินสะสมอยู่ เช่น กระ จุดด่าง หรือไฝ ถ้าคุณมีไฝมากกว่า 50 เม็ดทั่วร่างกาย หรือมีคนในครอบครัวที่มีประวัติว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อนคุณจะมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าคนอื่นๆ

ที่มา : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
read more “มะเร็งชนิดต่าง ๆ”
 

Followers

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
กรุงเทพฯ, Thailand
ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ KU58, ปริญญาโท บริหารธุรกิจ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2548

เคล็ดลับสาวพันปีกับอาหารเพื่อสุขภาพ Copyright 2009 Shoppaholic Designed by Ipietoon Image by Tadpole's Notez